ซีพียูรหัส Broadwell เลื่อนกว่ากำหนดมานานเกือบปีด้วยเหตุผลด้านการผลิต แต่ในที่สุดอินเทลก็ออกมาเผยข้อมูลของ Broadwell เป็นบางส่วน ก่อนจะเปิดเผยรายละเอียดแบบเต็มๆ ในงาน IDF 2014 เดือนกันยายน
Broadwell เป็นซีพียูในขา "tick" ของอินเทลตามยุทธศาสตร์ tick-tock โดยรอบนี้จะคงสถาปัตยกรรมซีพียูเดิมจาก Haswell (ปรับแต่งเล็กน้อย เปลี่ยนจากเดิมไม่เยอะ) แต่เปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตจาก 22 นาโนเมตร มาเป็น 14 นาโนเมตรแทน
ของใหม่ใน Broadwell จึงแยกเป็นส่วนของเทคโนโลยีการผลิต และส่วนของสถาปัตยกรรมซีพียูครับ เริ่มจากเทคโนโลยีการผลิตกันก่อนเลย (ข่าวนี้ภาพเยอะหน่อยนะครับ)
14 นาโนเมตรเป็นเช่นไร
อินเทลเริ่มจากอธิบายพัฒนาการซีพียูของตัวเองนับตั้งแต่ออก Core รุ่นแรกในปี 2010 จนมาถึงปัจจุบัน ว่ามีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ประหยัดพลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ และมีสมรรถนะการประมวลผลดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนดีขึ้นแค่ไหนดูตัวเลขกันเองตามภาพ
รอบนี้อินเทลปรับเทคโนโลยีการผลิตจาก 22 นาโนเมตรเป็น 14 นาโนเมตร แกนหลักสำคัญอยู่ที่เทคโนโลยี ทรานซิสเตอร์ 3 มิติ หรือ Tri-Gate ที่เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2011 โดย Tri-Gate รุ่นที่สองถูกปรับปรุงใหม่ให้ระยะห่างระหว่างขา (pitch) แคบลง แต่ตัวขา (fin) สูงขึ้นเพื่อให้กระแสไฟวิ่งได้มากขึ้น เมื่อลดจำนวน fin ลงเหลือแค่ 2 ทำให้ขนาดโดยรวมเล็กลงดังภาพ
ภาพของจริง
ดูภาพแล้วนึกไม่ออก ลองดูแอนิเมชั่นของอินเทลจะเข้าใจง่ายกว่าครับ
ผลจาก 14 นาโนเมตรทำให้กระแสไฟรั่ว (leakage power) ต่ำลง และประสิทธิภาพการสลับสถานะของทรานซิสเตอร์ดีขึ้นกว่าเทคโนโลยีการผลิตรุ่นก่อนๆ
ถ้าวัดอัตราประสิทธิภาพการประมวผลต่อพลังงาน (performance per watt) เทียบกันระหว่าง 22 นาโนเมตรกับ 14 นาโนเมตร จะดีขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว
ส่วนอัตราการใช้พื้นที่ผิวโลหะ (logic area) ของอินเทลก็มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ในขณะที่คู่แข่งเริ่มหยุดพัฒนาแล้ว
การผลิตที่ระดับ 14 นาโนเมตรยังช่วยให้ต้นทุนต่อทรานซิสเตอร์ 1 ตัวลดลง ในภาพรวมทั้งหมดแล้ว ถือว่าอินเทลยังรักษา "กฎของมัวร์" เอาไว้ได้ในรุ่นนี้
ประเด็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้อินเทลต้องเลื่อน Broadwell มาหลายเดือน เป็นเรื่องอัตราความสำเร็จในการผลิต (yield rate) ที่ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีการผลิตระดับ 22 นาโนเมตรในปัจจุบัน แต่ตอนนี้อินเทลแก้ปัญหาเรื่อง yield ได้แล้ว และคาดว่าปลายปีนี้จะปรับปรุงให้เดินสายการผลิตได้เต็มขั้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้าน yield ทำให้เราจะเห็น Broadwell เปิดตัวแค่บางรุ่นในช่วงปลายปีนี้ ก่อนจะเปิดตัวแบบเต็มๆ ในปีหน้า
เริ่มต้นด้วย Core M เน้นแท็บเล็ตหน้าจอ 10 นิ้ว
ปกติแล้วอินเทลจะเปิดตัว Core รุ่นใหม่ด้วยตัวท็อป Core i7 แต่รอบนี้ไม่ใช่แล้วครับ อินเทลเลือกเปิดตัวด้วย Core M ซีพียูรุ่นใหม่สำหรับอุปกรณ์พกพา ที่เพิ่งเปิดตัวในงาน Computex ที่ผ่านมา
Core M เป็นซีพียูแบรนด์ใหม่ที่จะวางขายเคียงคู่กับ Core i3/i5/i7 แต่ในทางปฏิบัติแล้ว มันคือ Core i3/i5/i7 รหัส Y เดิมที่ใช้กับอัลตร้าบุ๊ก เอามารีแบรนด์ใหม่เป็น Core M ในรุ่นของ Broadwell นี้เอง (ในเอกสารจะเห็นชื่อ Broadwell Y หรือ BDW-Y ซึ่งก็หมายถึง Core M)
ตอนนี้จึงยังมีแค่รายละเอียดของ Broadwell ในส่วนของ Core M ถ้าอยากรู้เรื่อง Broadwell สายอื่นๆ ต้องรอรายละเอียดในงาน IDF นะครับ
อินเทลกำหนดโจทย์การออกแบบ Core M ว่ามันจะต้องยัดลงในอุปกรณ์แท็บเล็ตไฮบริด (อินเทลเรียก 2-in-1) หน้าจอขนาด 10 นิ้ว บางกว่า 9 มิลลิเมตร (ถ้านึกตัวอย่างไม่ออกก็ประมาณ Surface) การใช้งานในอุปกรณ์ที่บางขนาดนี้ไม่สามารถใส่พัดลมได้ (fanless) ทำให้ Core M ต้องออกแบบมาให้เล็กและความร้อนต่ำพอ
ในแง่ของขนาด ตัวบอร์ดของ Core M ทั้งแผ่นมีขนาดเล็กลง 50% เมื่อเทียบกับ Haswell
ในแง่ของความสูงของบอร์ดก็แบนลงกว่าเดิม 30% ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า 3D inductors (3DL) เอาไปยัดไว้ในระดับเดียวกับบอร์ด ตามภาพ
ในแง่ของพลังงานก็มีการปรับปรุงการออกแบบหลายจุด ร่วมกับการปรับขนาดการผลิตมาอยู่ที่ 14 นาโนเมตร และการปรับปรุงชิปองค์ประกอบอื่นๆ เช่น WLAN, แรม, ชิปเซ็ต ให้ควบคุมพลังงานได้ดีขึ้นในภาพรวม ผลคืออัตราการปล่อยความร้อน (TDP) ดีขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับ Haswell-Y รุ่นที่แล้ว
ส่วนของสถาปัตยกรรมซีพียู ตรงนี้ยังไม่ค่อยมีรายละเอียดออกมามากนัก (ในสไลด์ของอินเทลมีหน้าเดียว) แต่เป็นการปรับปรุงขึ้นจาก Haswell ให้รันชุดคำสั่งต่อรอบ (instructions per cycle หรือ IPC) ดีกว่าเดิม 5%, ปรับปรุงเรื่องแคชและหน่วยความจำ, ปรับปรุงหน่วยประมวลผลทศนิยม (floating point) และปรับปรุงการเร่งการเข้ารหัส (cryptography acceleration)
ส่วนที่ปรับปรุงขึ้นเยอะกว่าคือจีพียู (ตอนนี้ยังไม่มีชื่อเรียกชัดเจนแต่ก็คงหนีไม่พ้น Intel HD 5000) โดยมีพลังการคำนวณดีขึ้น 20% และรองรับมาตรฐานกราฟิกใหม่ๆ ทั้ง Direct X 11.2 และ OpenGL 4.3
นอกจากงานกราฟิก 3 มิติแล้ว จีพียูยังปรับปรุงเรื่องการแสดงผลภาพและวิดีโอ ดันความละเอียดสูงสุดที่รองรับขึ้นไปที่ระดับ 4K และปรับปรุงคุณภาพของวิดีโอที่เรนเดอร์ให้ดีขึ้น
ตอนนี้เรายังไม่มีข้อมูลเรื่องการใช้งานซีพียูสาย Broadwell คู่กับจีพียูสาย Iris Pro (ที่เป็นคนละตัวกับ Intel HD) ต้องรอดูตอนอินเทลประกาศแผนการขายเป็นรายรุ่นว่าจะมีรุ่นไหนจับคู่กับ Iris Pro ได้บ้าง
อินเทลบอกว่าเราจะได้เห็นสินค้าที่ใช้ Core M ชุดแรกวางขายภายในสิ้นปีนี้ และจะมีสินค้ารุ่นอื่นๆ ตามมาอีกมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2015
ที่มา - อินเทล
รายละเอียดทางเทคนิคแบบเต็มๆ อ่านได้จาก เอกสารนำเสนอของอินเทล (PDF) , AnandTech , Ars Technica
Comments
มาเร็วๆอยากเห็นสงคราม ประสิทธิภาพสู้กับราคาเหมือนสมัยไฟว์กับ AMD แต่ตอนนี้เป็น ARM น่าแปลกที่สองบริษัทนี้ ย่อ 3 ตัว มี A นำหน้า และมีตัว M เหมือนกันประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยไหมนะ
รอ Tock แล้วกันเพิ่งถอย Haswell มาได้ไม่ถึงปี
+1 รอข้ามไป Skylake+DDR4
แสดงว่า Broadwell ไม่รองรับ DDR4 สินะ
รอซื้อกันต่อไป
รู้สึก Core m จะมี TDP 4.5 watts อยากได้มานานแล้วโน๊ตบุคที่ไม่ร้อน และ แบตอยู่นาน
สงสัยคงถอยโน๊ตบุ๊ก Haswell มาใช่ก่อนน่าจะดีกว่า (คงไม่รอ Broadwell แล้ว)
Coder | Designer | Thinker | Blogger
Surface Pro 3 ตกรุ่นแล้ว #ผิด
ไมโครซอฟท์ก็ช่างไม่ปรับรอบการออกรุ่นจริงๆ นี่รุ่นที่สามแล้วนะ
ขอบคุณสำหรับบทความครับ เข้าใจง่ายดี คลิปวิดีโอก็น่ารักดี (^.^) แต่ดูภาพภาพจำลองกับภาพจริงนี่ โลกความจริงช่างโหดร้าย :p
โน๊ตบุ๊คผม i5 Gen1 (น่าจะ Westmere แต่ยังรักอยู่นะ) ไม่รอล่ะครับ ตอนนี้ Haswell ก็เอา -..-
Achievement Unlocked: Being a Blognone's Writer
น่าจะ Arrandale มากกว่านะ
Coder | Designer | Thinker | Blogger
ไปเช็คดูตกลงเป็น Arrandale ครับ
Achievement Unlocked: Being a Blognone's Writer
ผมค้างที่ ivy อยู่กะข้าม Haswell ไป Broadwell
มาเร็วๆนะฮะ
ขอบคุณครับ บทความดีมาก
ความจริงตอนนี้ใจมันข้าม Broadwell ไปแล้ว ไปอยู่ที่ Skylake มากกว่า น่าจะมีอะไรให้ตื่นเต้นจริงๆ แต่ถ้ามาฟอร์มนี้สงสัยกว่าจะได้เชยชม Skylake อาจเป็นปี 2016
เห้นด้วยครับตอนนี้น้อง vaio ผมใช้ i5 Arrandale ก็ไม่ได้รู้สึกว่าช้าจนหน้างุดหงิดอ่าไร ใจเลยข้ามไปลอง Mac ที่ใช้ skylake แล้วเหมือนกัน เสียดาษที่ sony เลิกทำ vaio แล้วไม่อย่างนั้นก็จะรอซื้อ vaio ที่ใช้ skylake แทนครับ
ประมวผล => ประมวลผล
รอตั้งนาน อย่าลืมมือถือนะเดียวจะเปลียน
รอดู Windows 8 Tablet (ถ้ามี Stylus แบบ Wacom ด้วยนี่ซื้อแบบไม่คิด 55)
รอดู Macbook Pro with Retina Display ที่ใช้ Broadwell และ Mac OS 10.11 (อุทธยานอะไรดี)
ปีหน้าโน่นนะครับถึงมาผมกะจะซื้อตอนมันออกเนี้ยแหละครับทนใช้ MBA ไปก่อนจะโดดไป MBP Retina และ
อยากได้ vaio duo ใส่ core M sony กลับมาทำให้ที่ได้ไหมมม
Sony ปล่อย Vaio ออกไปแล้ว เค้าไม่ทำตลาดนอก ญี่ปุ่นแล้วด้วย เสียใจด้วยนะครับ
รอสิ้นปีน่าจะมี Notebook ใช้ Core M ออกวางจำหน่าย
Texion Business Solutions
Macbook Air รุ่นหน้าไม่มีพัดลมสินะ
รอ skylake แปป
เลื่อนมาเป็นปีก็ยังไม่ออกอีก broadwell ตัวunlock (k-sereis) สำหรับdesktop ตามแผนวางขายต้นปีหน้านู่น แถมปลายปีหน้าskylake ออกอีก ซื้อก่อนใช้ก่อนแล้วกัน