จากประเด็นข่าวเมื่อวานนี้ อธิบดีกรมการขนส่งทางบกระบุ Uber ผิดกฎหมาย ส่งผลให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ความเห็นประเภทหนึ่งที่พบได้มาก (ไม่ว่าจะเป็นในระบบคอมเมนต์ของ Blognone เองหรือคอมเมนต์บนเว็บไซต์อื่นๆ) คือความเห็นลักษณะที่ว่า "กรมการขนส่งทางบกควรไปกำกับดูแลแท็กซี่ให้ดีก่อน แล้วค่อยมาเอาผิด Uber"
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่ออธิบายว่าตรรกะข้างต้นเรื่องการกำกับดูแลแท็กซี่นั้นไม่มีอะไรผิด แต่มันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับ Uber
Sharing Economy
ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นเรื่องกรมการขนส่งทางบก ผู้อ่านต้องเข้าใจแนวคิดของ "เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน" (sharing economy) เสียก่อน
sharing economy ไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่มันถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตามพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ แนวคิดของมันคือการแบ่งปัน "ทรัพยากรส่วนเกิน" ระหว่างกลุ่มผู้บริโภค (consumer) ด้วยกันเอง เพื่อให้ไม่ต้องพึ่งพาผู้ให้บริการ (provider) แบบดั้งเดิม
ตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ คือการขายสินค้ามือสอง ซึ่งเป็น "สิ่งของ" (ทรัพยากรในแง่เศรษฐศาสตร์) ที่เจ้าของไม่ใช้แล้ว (เป็นส่วนเกินในชีวิต) นำมาแบ่งปันให้กับบุคคลอื่นที่อาจใช้ประโยชน์จากมันแทนได้ กระบวนการแลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันสิ่งของมือสองในอดีตคือการนำมาขายตามตลาดนัดประเภทเปิดท้ายขายของ ซึ่งถูกจำกัดด้วยพื้นที่เชิงกายภาพ (คนซื้อคือคนที่มาเดินตลาดเท่านั้น) แต่เมื่อเกิดอินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์อย่าง eBay หรือ Craiglist ขึ้นมา ทำให้เราสามารถแลกเปลี่ยนสินค้ากับใครก็ได้บนโลก ขยายพรมแดนของพื้นที่แลกเปลี่ยนออกไปจากเดิมมาก
sharing economy ในยุคแรกๆ ของอินเทอร์เน็ตถูกจำกัดเฉพาะสิ่งของหรือบริการบางอย่างเท่านั้น เพราะอินเทอร์เน็ตถูกจำกัดการเข้าถึงเฉพาะจากคอมพิวเตอร์ ซึ่งมักเป็นอุปกรณ์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดิมไม่เคลื่อนย้ายไปไหน (ด้วยข้อจำกัดเรื่องขนาดและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต) แต่เมื่อเทคโนโลยีอุปกรณ์พกพาและอินเทอร์เน็ต 3G เกิดขึ้น ทำให้ sharing economy ขยายปริมณฑลของตัวเองตามมา
เราจึงเห็น "แอพ" สำหรับแบ่งปันทรัพยากรสารพัดชนิดเท่าที่มนุษย์ (และผู้ประกอบการ) สามารถนึกฝันไปได้ หัวหอกของแอพกลุ่มนี้คือ Airbnb (แบ่งปันห้องเช่า-บ้านพัก) และ Uber (แบ่งปันการขนส่ง/คมนาคม) แต่จริงๆ แล้วยังมีแอพกลุ่มนี้อีกมาก เช่น
- Dogvacay ฝากเลี้ยงหมาเวลาไม่อยู่บ้าน (แทนที่จะไปใช้บริการคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ที่มีราคาแพง)
- TaskRabbit จ้างทำงานเล็กๆ น้อยๆ อะไรก็ได้ (เหมือนลูกจ้างรายวัน แต่เชื่อมโยงผู้รับจ้างกับผู้จ้างผ่านแอพ)
- JustPark แบ่งปันที่จอดรถที่อาจเช่าไว้ในราคาแพง และไม่ได้ใช้อยู่ตลอดเวลา
- RelayRides แบ่งปันรถ ให้คนอื่นเช่ารถของเราในกรณีที่ไม่ได้ใช้งาน จอดทิ้งไว้เฉยๆ
- Spinlister แบ่งปันอุปกรณ์กีฬา เช่น จักรยาน กระดานโต้คลื่น อุปกรณ์สกี ให้คนอื่นเช่า
- Lyft บริการแท็กซี่บุคคล (เหมือน UberX) ให้คนที่มีรถยนต์ออกมารับจ้างขับรถผ่านแอพ
ประเด็นเรื่อง sharing economy ถือว่ามีความสำคัญเพราะส่งผลกระทบต่อ "ความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจ" ในระบบเดิมๆ เพราะมันเป็นการส่งเสริมให้ผู้ซื้อได้มาเจอกับ "ผู้ขาย" ที่มีสถานะเป็นบุคคลทั่วไปได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการตัด "คนกลาง" (middleman) แบบดั้งเดิมออกไป แถมยังเอื้อให้ผู้บริโภคยุคหน้าไม่จำเป็นต้อง "เป็นเจ้าของ" (ownership) สิ่งของหรือบริการบางอย่างอีกแล้ว เพราะสามารถใช้วิธีเช่าหรือซื้อบริการชั่วคราวได้อย่างง่ายๆ แค่เพียงจิ้มหน้าจอโทรศัพท์มือถือ
แนวคิด sharing economy ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารด้านธุรกิจของต่างประเทศ และถึงเคยลงหน้าปก The Economist ด้วยซ้ำ (อ่านได้จากบทความ The rise of the sharing economy )
ผลกระทบของ Sharing Economy
การเกิดขึ้นของ sharing economy ที่ทำลายความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจในรูปแบบเดิมๆ ของทุกวงการ ส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในทุกวงการต้องปรับตัวรับมือเศรษฐกิจรูปแบบใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค ผู้ให้บริการ หรือหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐ ก็ย่อมต้องปรับตัวกันทั้งนั้น
กรณีของ Uber นั้นชัดเจนมากว่าส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการรถแท็กซี่ในรูปแบบเดิมๆ (ในฐานะคู่แข่งที่เข้ามาคุกคามธุรกิจเดิม) เราจึงเห็นข่าวสมาคมแท็กซี่ในเมืองใหญ่ทั่วโลกออกมาประท้วง Uber กันมากมาย เช่น
- สมาคมแท็กซี่ลอนดอน รวมตัวประท้วง Uber
- สหภาพแท็กซี่ของกรุงไทเปปิดถนนประท้วง Uber
- คนขับรถแท็กซี่ในยุโรปเตรียมปิดถนนประท้วง Uber
- เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ไทยเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบกปราบปราม Uber
นอกจากความไม่พอใจของคู่แข่งธุรกิจโดยตรงแล้ว ในอุตสาหกรรมที่มีการกำกับดูแลโดยรัฐอย่างเข้มงวด มีกฎเกณฑ์หรือกฎระเบียบ (ที่ออกแบบมาบนฐานของความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจแบบเดิม) อย่างชัดเจน บริการแนวใหม่เหล่านี้ (ที่ทำลายความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจแบบเดิม) จึงหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกฎระเบียบและหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้
Airbnb เป็นบริษัทที่มีข่าวอยู่เสมอในเรื่องการต่อสู้กับกฎระเบียบด้านห้องเช่าหรือห้องพักแบบเดิมๆ กรณีที่โด่งดังที่สุดคือ เมืองนิวยอร์กตัดสินให้ Airbnb ผิดกฎหมายโรงแรมของเมือง ที่ห้ามคนทั่วไปให้เช่าห้องในระยะสั้นกว่า 30 วันโดยไม่ได้รับอนุญาต (เพราะจะทับซ้อนกับบริการโรงแรม)
ส่วน Uber (และบริการประเภทเดียวกันอย่าง Lyft) ก็เผชิญกับการแทรกแซงของภาครัฐทั่วโลกเช่นกัน เราเห็นข่าวการเข้ามากำกับดูแล Uber อย่างมากมายในรอบปีสองปีที่ผ่านมา คัดมาเฉพาะที่เคยมีข่าวใน Blognone นะครับ
- สภาเมืองซีแอทเทิล ออกกฎจำกัดปริมาณรถยนต์แบบแชร์กัน
- เบลเยียมลงดาบ Uber ห้ามให้บริการในประเทศ เจอเป็นจับและปรับร่วมแสน
- Uber ถูกแบนในกรุงเบอร์ลิน
- รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซลกำลังหาทางแบน Uber
- รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐออสเตรเลียใต้ระบุ Uber บริการไม่ได้ภายในรัฐ ขู่พร้อมดำเนินการตามกฏหมาย
- เมืองโตรอนโตขอคำสั่งศาลให้ยุติการให้บริการ Uber อย่างเป็นทางการ
- ทางการสิงคโปร์เตรียมเข้าควบคุมแอพเรียกรถโดยสาร
- Uber หยุดให้บริการในเนวาดาชั่วคราว สัญญาว่าจะกลับมา
คลิปข่าว BBC สมาคมผู้ขับแท็กซี่ลอนดอน รวมตัวทำรถติดเพื่อประท้วง Uber
ปัญหาของการกำกับดูแล การปะทะกันระหว่างของเก่าและของใหม่
ปัญหาเรื่องความล้าสมัยของกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ และการกำกับดูแลที่ปรับตัวตามไม่ทันเทคโนโลยี ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่เลย เราเห็นประเด็นปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประวัติศาสตร์มนุษย์ยุคใหม่
ตัวอย่างที่เมืองไทยพูดกันมาเยอะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคือความพยายามปรับปรุงกฎหมายภาษีมรดกและภาษีที่ดิน ที่ล้าสมัยไปมากและตามไม่ทันโครงสร้างทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน หรือประเด็นเรื่องกฎหมายไอซีทีกับความพยายาม "บล็อคเว็บ" (ที่ในแง่เทคโนโลยีแทบเป็นไปไม่ได้) ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ผู้อ่าน Blognone คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว
เหตุผลที่ระบบกฎหมายตามเทคโนโลยีไม่ทันอยู่เสมอนั้น Alvin Toffler นักอนาคตศาสตร์ชื่อดังเคยอธิบายไว้ในหนังสือ ความมั่งคั่งปฏิวัติ (Revolutionary Wealth) ว่าสถาบันแต่ละประเภทในโลกนั้นขับเคลื่อนตัวเองด้วย "ความเร็ว" ที่แตกต่างกัน โดยบริษัทเอกชนจะเคลื่อนตัวเร็วที่สุด ตามด้วยภาคสังคม ครอบครัว ที่ขับเคลื่อนด้วยความเร็วลดหลั่นลงมา ส่วนสถาบันที่ขับเคลื่อนช้าที่สุดคือระบบกฎหมายนั่นเอง (อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ใน บล็อกของคุณ house ที่เขียนถึงแนวคิดของ Toffler ประเด็นนี้ )
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจนักที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านการขนส่งทั่วโลก เผชิญปัญหาคล้ายๆ กันคือไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับบริการแนวใหม่อย่าง Uber (เพราะธรรมชาติของหน่วยงานเหล่านี้ที่เคลื่อนตัวช้าเป็นปกติ) ในขณะที่ผู้บริโภคกลับปรับตัวรับมือ Uber ได้รวดเร็วกว่ากันมาก ความเหลื่อมซ้อนของจังหวะเวลาลักษณะนี้จึงสร้าง "ความขัดแย้ง" หรือ "การปะทะ" ของหน่วยงานที่มีจังหวะเวลาไม่เท่ากันนั่นเอง
หมายเหตุ: ในอีกฝั่งหนึ่ง ต้องไม่ลืมว่าคนขับรถในเครือข่าย Uber เองก็เคยออกมารวมตัวประท้วงบริษัทด้วยเช่นกันในประเด็นเรื่องเงื่อนไข-ค่าจ้างที่อาจมองว่าไม่เป็นธรรม ซึ่งบทความนี้จะไม่สนใจประเด็นนี้
บทสรุป
กลับมาที่กรณีของประเทศไทย ประเด็นข่าวเรื่องกรมการขนส่งทางบกมองว่า Uber ผิดกฎหมายจึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะกรมการขนส่งทางบกยึดถืออำนาจตามกฎหมายที่อาจเริ่มล้าสมัยแล้วในปัจจุบัน (Blognone เคยนำเสนอ ความเห็นของนักกฎหมายไทย ที่ตีความกฎหมายฉบับเดียวกัน และได้ผลออกมาเหมือนกันคือ "ผิดกฎหมาย") ซึ่งทางออกในประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการกันต่อไปตามกระบวนการของการแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบของแต่ละสังคม (เช่น กรมการขนส่งทางบกอาจแก้กฎกระทรวง หรือ ผลักดันให้เกิดกฎหมายด้านการขนส่งฉบับใหม่)
บริษัทไอทีล้ำยุคหลายแห่งเผชิญปัญหาลักษณะนี้มานานแล้ว และใช้กระบวนการผลักดันให้เกิดการแก้กฎหมายของต่างประเทศเพื่อให้ธุรกิจของตัวเองเดินหน้าไปได้ (ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกูเกิลพยายามล็อบบี้สภานิติบัญญัติทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นของสหรัฐ ให้แก้กฎหมายเกี่ยวกับรถยนต์ไร้คนขับ) ส่วนบริษัทในข่าวนี้คือ Uber เองก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการทำงานร่วมกับภาครัฐทุกประเทศเพื่อหาทางออกร่วมกัน แทนการเผชิญหน้าจนไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้
แถลงการณ์ของ Uber ต่อประเด็นปัญหาในไทย
Uber แถลงยืนยันถึงความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัยของ Uber และความสะดวกสบายที่บอกให้กับผู้โดยสารจากการให้บริการของตนเองในกว่า 250 ประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกันทาง Uber ก็กล่าวว่ายินดีน้อมรับข้อกฎหมายของไทย และพร้อมร่วมงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจถึงสิ่งที่ Uber สามารถสร้างสรรค์ให้กับระบบคมนาคมของไทยอีกด้วย
จะเห็นว่าการกำกับดูแล Uber ของกรมการขนส่งทางบกของไทยนั้นแทบไม่มีสาเหตุอะไรเกี่ยวกับ "ปัญหาแท็กซี่" แบบดั้งเดิมเลย (แม้แท็กซี่ไทยไม่พอใจ Uber แต่กรมการขนส่งทางบกก็ต้องยึดตามกฎหมายอยู่ดี) ส่วนปัญหาคุณภาพของแท็กซี่ไทยนั้นเกิดจากปัจจัยใหญ่ๆ 2 ประการ
- ความไม่มีประสิทธิภาพของการกำกับดูแล (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม) เราไม่สามารถคาดหวังประสิทธิภาพของการกำกับดูแลได้เต็ม 100% อยู่แล้ว (ดังนั้นการกำกับดูแลโดยรัฐที่ดีพอจนปัญหาแท็กซี่หมดไป 100% จึงเป็นเรื่องในอุดมคติเท่านั้น)
- โครงสร้างทางเศรษฐกิจของผู้ให้บริการแท็กซี่ในไทยที่บิดเบี้ยว และทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพโดยตัวมันเอง เรื่องนี้มีคนเขียนไว้เยอะแล้ว คงไม่ลงรายละเอียดในที่นี้ (แบบสรุปๆ คือค่าแท็กซี่ไทยนั้นถูกเกินไป)
สรุปอีกรอบ เป้าหมายของบทความนี้ต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจว่า
- การปะทะกันระหว่างธุรกิจแบบใหม่กับการกำกับดูแลแบบเดิม เป็นเรื่องปกติธรรมชาติ (ที่ควรแก้ไขโดยเร็วด้วยกระบวนการทางนิติบัญญัติ)
- ปัญหาคุณภาพแท็กซี่ไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิมแล้ว (ที่ควรแก้ไขโดยเร็ว แต่ด้วยโซลูชันอีกแบบ)
หมายเหตุ:ภาพประกอบจาก Uber
Comments
เยี่ยมครับ
ก็ตามนั้นล่ะครับ ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ เราที่เป็นประชาชนก็เฝ้าดูกระบวนการกัน หากอยากให้มันเร็วไม่เต่าล้านปีก็ต้องช่วยๆกันผลักดันครับ แต่เมืองไทย ต้องมาวัดกันว่า สหกรณ์ หรือ uber ใครจะล็อบบี้ได้เก่งกว่ากัน
ผมสนับสนุนให้ สหกรณ์ taxi หันมาใช้ uber ซะเอง ก็เงินมันดีครับ และด้วยเงินดี คุณภาพ"อาจดีขึ้น" บริการด้วยใจที่เปี่ยมสุขมากขึ้นเช่นกัน
ถ้าทำระบบเองให้ดีแบบเขาได้ด้วยนี่ก็จะดีนะครับ UBER นี่เรียกได้ว่าเงินจากการเรียกแท็กซี่เกือบทั่วโลกไหลไปหาบริษัทเลย ;)
มี 2 ระบบ แข่งกัน
ระบบแท็กซี่เดิมก็สังกัดกรมการขนส่งทางบก
ระบบ UBER ก็ย้ายไปสังกัดส่วนท้องถิ่นซะ
ฝึกให้คนระดับล่างๆ สุดๆ ของบ้านเรารู้จักการการค้าเสรี
จะได้ไม่เป็นภาระแก่สังคม
(จับสองระบบนี้ให้มันมาชนกัน ภาครัฐก็เก็บภาษีลูกเดียวทั้งสองฝั่ง)
เปิดหูเปิดตาดีครับ อยากให้ทุกฝ่ายเริ่มคุยกันด้วยความเข้าใจทีตรงกับแบบนี้
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
แล้ว UFUN นี่ไม่ผิดกฏหมายรึไง?
ฉลาดขึ้นเยอะ ขอบคุณครับ
ผิดกฏหมายก็ผิดแต่ที่บอกว่าถูกกฏหมายก็ทำให้ซะทีสิ รูปในรถก็ต้องตรงกับคนขับ ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร ไม่ทิ้งผู้โดยสารกลางคัน คนใช้uberแม้จะรู้ว่าผิดกฏหมายก็ใข้เพราะuberให้บริการแบบแท๊กซี่ถูกกฏหมายควรทำกัน
ดูแล้ว uber ไม่น่าจะใหญ่พอ
เห็นแท็กซี่พูดประจำว่า แก็สจะหมด รีบไปส่งรถ แต่ตอนตี 2 ที่ผ่านมา ถนนหน้า RCA แทบจะขยับไม่ได้เกือบครึ่งชั่วโมง สังเกตุดูมีแต่รถแท็กซี่เกิน 80% เลยสงสัยว่าถ้ารีบจริง หรือกลัวแก๊สหมด จะวิ่งผ่านมาบริเวณนั้นทำไม ทั้งที่รู้ว่ารถมันติดมากๆ
"จึงหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกฎระเบียบและหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" - อ่านแล้วแปลกๆครับน่าจะเป็น "จึงหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกฎระเบียบและหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้" หรือเปล่าครับ
บทความโดนมากครับ ผมเดาว่าบางที uber อาจจะมองว่าการเข้าไปเปลี่ยนแปลงกฏหมายเดิมนั้นยากทุกประเทศ จึงอาจจะใช้วิธีการสร้างบริการให้เป็นที่ต้องการของประชาชนมากๆ เพื่ออาศัยพลังของประชาชนช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็ได้
แก้ตามที่เสนอครับ
ตรง "และถึงเคยลงหน้าปก The Economist ด้วยซ้ำ" น่าจะแก้ไขเป็น "รวมถึงเคยลงหน้าปก The Economist ด้วยซ้ำ" หรือ "และถึงกับเคยลงหน้าปก The Economist ด้วยซ้ำ" หรือเปล่าครับอีกเรื่อง รู้สึกว่าใส่วงเล็บพร่ำเพรื่อจนเป็นอุปสรรคต่อการอ่านไปนิดครับ
เห็นด้วยเรื่องวงเล็บมาก อ่านสนุกน้อยลง แต่ก็เข้าใจว่าเน้นวิชาการ
ขอบคุณสำหรับบทความครับ
ขอมองในมุมต่างบ้างนะครับ คือไม่อยากให้มองว่า uber แค่ด้านเดียวว่าเป็นอัศวินขี่ม้าขาว ที่จะช่วยกำราบมังกร(แท็กซี่ระบบเดิม) ใครจะไปรู้ว่า uber อาจจะเป็นมังกรอีกตัวก็ได้
ผมเองเห็นด้วยเรื่องการตัดพ่อค้าคนกลางออกไปนะครับ ตอนนี้ก็ เป็นเจ้าสาวในโครงการผูกปิ่นโตข้าวอยู่ แต่ค่อนข้างงงกันคำว่า sharing economy นะครับ เพราะ ไม่เห็นว่าจะแบ่งปันตรงไหน ก็เห็นมีแต่เรื่องผลประโยชน์ ที่ยังไม่ลงตัวเท่านั้น
ในเคสนี้ ถือว่ากฏหมายล้าสมัยตรงไหนบ้าง ที่ uber ผิดกฏหมาย
1. รถที่ใช้ไม่ใช่รถจดทะเบียนสำหรับรับส่งสาธารณะ2. คนขับ uber ส่วนหนึ่งไม่มีใบขับขี่สาธารณะ (อันนี้ผมว่าสำคัญนะ)
3. ค่าโดยสารผิดระเบียบ (Uber แพงกว่า)
สามข้อนี่ผมไม่เห็นว่าจะล้าสมัยนะ ข้อแรกนั้น กรมการขนส่งก้ควรจะมีข้อมูลของรถที่จะเป็นรถสาธารณะอยู่แล้ว ทั้งเพื่อความปลอดภัยและเรื่องของภาษี (รถส่วนตัวกับรถสาธารณะ ไม่น่าจะจ่ายเท่ากัน)
2. อันนี้เรื่องความปลอดภัยล้วน ๆ ไม่ใช่ว่าคนขับแท็กซี่ขับดีกว่าคนขับทั่วไปนะ แต่มาตรฐานการสอบใบขับสาธารณะมันสูงกว่าใบขับขี่ทั่วไปจริงๆ ซึ่งดีกับผู้โดยสารนะครับ3. ว่าตรงๆคือแท็กซี่มีการควบคุมราคาอยู่ แต่ uber ดันตั้งราคาสูงกว่าราคาควบคุม
จริงๆ uber ก็ลดราคาให้เท่าแท็กซี่ก็สิ้นเรื่อง
คือไม่ว่าจะด่าแท็กซี่ในระบบยังไงก็ไม่ทำให้ uber ถูกกฏหมายขึ้นมาได้หรอกครับ ทำให้ถูกกฎหมยก็ดูไม่น่ายาก (แต่ทำไมดูพยายามดื้อแพ่งจังเลย)
Happiness only real when shared.
ผมอ่านแล้วความคิดในหัวที่อยากถามกลับคือ"แล้วทำไมต้องมอง Uber เป็น Taxi หรือรถขนส่งสาธารณะที่ต้องควบคุมให้ได้ล่ะครับ"
เขาเป็นบริการช่วยจัดหารถรับส่ง จะบอกว่าแอพมีไว้หาเพื่อนขับรถพาไปส่งก็ได้ โดยเราช่วยจ่ายค่าจ้างตามสมควร
แต่ใครทำเป็นอาชีพหลัก ผมก็เห็นด้วยที่จะบังคับใช้กฎข้อ 1.) และ ข้อ 2.)
ที่ว่า
1. รถที่ใช้ไม่ใช่รถจดทะเบียนสำหรับรับส่งสาธารณะ
2. คนขับ Uber ส่วนหนึ่งไม่มีใบขับขี่สาธารณะ
ยังไงทำให้ถูกไว้ก็ดีกว่า
แต่ข้อ 3.) ค่าโดยสารผิดระเบียบ (Uber แพงกว่า)
ผมไม่เห็นด้วยที่จะตั้งราคาแบบ Taxi ทั้งๆที่ไม่ใช่ Taxi นะครับ
ควรจะอ้างอิงการที่รถขนส่งของโรงแรม หรือเอกชนอื่นๆ คิดราคายังไงก็ได้มากกว่า
ง่ายๆเลยคับ รับคนด้วยการว่าจ้างคือได้เงิน เลยต้องทำตามกฎหมายแค่นั้นเลยผมมองว่าสิ่งที่กฎหมายไทยมีอยู่อันนี้ไม่ได้แย่เลย แค่ผู้ประกอบการปรับตัวให้ถูกต้องแค่นั้นก็พอแล้วคับ
เห็นด้วยครับ ข้อนี้ ทำไมต้องมองเป็น Taxi
โดยส่วนตัวผมกลับเห็นว่า Uber มันคือการจ้างขับรถให้มากกว่าเป็นแท๊กซี่ ซึ่งคนทำอาจจะมีอาชีพอื่นก็ได้ถ้าเปิดนโยบายแนวนี้ท่าจะดี โดยส่วนตัวผมว่าการกำหนดราคาเพดานของ Taxi ดีครับ แต่ไม่ควรให้กำหนดราคาคนอื่นสาเหตุเพราะ มันทำให้ไม่เกิดตลาดใหม่ๆ ซึ่งถ้าเรายังวนอยู่กับ คำว่า Taxi มันก็จะไม่มีตลาดเลย แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นตลาดรถรับจ้าง ผมว่ามันจะกลายเป็นมี Hi-end, Low-end และทำให้เกิดการเปรียบเทียบ และจริงๆผมกลับมองด้วยซ้ำว่า Taxi ได้เปรียบเรื่องค่าโดยสารที่ถูกกว่า และก็เรียกง่ายกว่า แต่ทั้งนี้เพราะ Taxi ทำตัวเองครับที่มันแย่เพราะ Taxi เองนั่นแหละถ้า Taxi มีการปรับตัวเองให้ชัดเจน หรือขึ้นป้าย ว่าไปช่วงไหนไม่ปฎิเสธผู้โดยสารบางทีอาจจะไม่เห็นต้องกังวลกับ Uber เลยก็ได้ครับ
ส่วน 1) รถที่ใช้จดทะเบียนรถสาธารณะ ดีครับ ถ้าไม่มีผลกระทบด้านเกี่ยวกับภาษีนะครับ
2) คนขับ Uber ไม่มีใบขับขี่สาธารณะ ข้อนี้ผมว่าควรมีครับ อย่างน้อยก็จะได้เบาใจไปอย่างครับ
รับจ้างขนส่งบุคคล เป็นอาชีพ ก็เป็นบริการขนส่งสาธารณะรูปแบบหนึ่งแล้วครับ
เมื่อเป็นบริการขนส่งสาธารณะ ก็ต้องถูกควบคุมโดยกฎหมาย ไม่ว่าจะมองว่าเป็น taxi หรือไม่ก็ตาม
แม้แต่รถตู้ป้ายดำ ที่เราเหมาไปเที่ยวกัน ตามกฎหมายก็ทำไม่ได้ครับ ช่วงที่มีการตรวจจับจริงจัง คนขับก็จะตกลงกับผู้โดยสารก่อนว่าถ้าตำรวจเรียกให้บอกว่าเป็นรถบ้าน+คนขับรถที่บ้าน (ไม่ได้เช่า)
A smooth sea never made a skillful sailor.
ผมนึกถึงรถเมล์อ่ะ มันมีค่าโดยสารกำหนดตามประเภทของรถ มองอีกมุมคือแบ่งตามระดับของบริการที่ผู้โดยสารได้รับ รถ ปอ. แพงกล่ารถพัดลม รถร่วมก็มีราคามาตรฐานต่างหาก
หรืออย่างรถบัสของ บขส. (ไม่ได้นั่งนานแล้ว ไม่รู้ยังมีระเบียบคล้ายแต่ก่อนหรือเปล่า) มีแบ่งราคา รถแดงไม่มีแอร์ถูกสุด แพงมาหน่อยก็รถ ป.2 มีแอร์ไม่มีห้องน้ำรับรายทางได้ ขยับขึั้นมาอีกก็ ป.1 มีแอร์มีห้องน้ำไม่รับคนนอกสถานี แล้วก็วีไอพีแพงสุด ได้ที่นั่งกว้างสบายมีแอร์มีห้องน้ำมีขนม (และอาจมีทีวี)
คือหากมองรถรับจ้างไม่ประจำทางเสียใหม่ว่ามันควรต้องแบ่งคลาสและกำหนดราคามาตรฐานแต่ละคลาสออกมาเนี่ย ก็ไม่จำเป็นต้องกดราคา Uber ส่วนคนขับ Taxi แต่เดิมที่อยากได้ค่าโดยสารเพิ่มก็จะได้มีแรงกระตุ้นปรับปรุงบริการเพื่ออัพคลาสตัวเองได้
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
ผมนึกถึงกรณีรถร่วมในกทมฯ ครับ ตอนขอขึ้นราคาก็บอกจะปรับปรุงนั่นนู่นนี่ พอได้แล้วก็... อย่างที่เห็น
ผมว่ามันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง แก้ยาก เพราะคนเริ่มชินกับการให้รัฐแก้ปัญหาต่างๆ แต่ตัวเองไม่ยอมปรับปรุงอะไร ปล่อยให้กลไกตลาดมันผลักดันก็ดีอยู่แล้ว อย่ามัวแต่อุ้มอยู่เลย ผมมองภาพรวมนะครับ
ผมชอบแนวทางของ uber และ grab taxi ทั้งคู่มันช่วยแก้ปัญหา taxi ได้จริงๆ แต่เรื่องของกฏหมายก็ต้องว่ากันไป
เป็นบทความที่ดีมากครับ
เรื่อง UBER ไม่เคยใช้บริการเลยไม่ขอออกความเห็นครับ ส่วน TAXI ปัจจุบัน จริงๆ ขอเสนอไอเดียแก้ปัญหา ปฎิเสธผู้โดยสารครับว่า ควรระบุ Licence Number คนขับ/รถ แบบสั้นๆ จำง่าย 3-4 ตัว เขียนไว้ข้างรถ ถ้าปฎิเสธผู้โดยสารก็ให้แจ้งหักคะแนน ถ้าหักเริ่มเยอะ 1. ให้พักการขับ 2. ห้ามขึ้นค่าโดยสาร (ในกรณีขึ้นค่าแก็ส) 3. ห้ามขับ ทั้งรถทั้คน ...ไอเดียนี้ต่างจากการบังคับเหมารวม (และใช้ไม่ได้ผลในปัจจุบัน) หันมามาบังคับใช้เฉพาะตัว ใครโดนแจ้งมากก็หักคะแนนมาก
ปล. อีกเรื่องข้างเคียง คือ รถตุ๊กๆ 3 ล้อ ที่ขับกันอยู่ เข้าใจว่ามีกฎหมายไม่ให้จดทะเบัยนใหม่ ตั้งแต่ปี 2529 ดังนั้น ตุ๊กๆ ที่เห็ฯอยู่จึงสวมทะเบียนมาเรื่อยๆ และมีอยู่จำกัด (ตลกดี ที่เห็นหลายคนภูมิใจ ตุ๊กๆ ไทย ทั้งที่ถูกทำหมันไปตั้งนานแล้ว) จริงๆ หากนำมาปัดฝุ่นเป็น ตุ๊กๆ มิเตอร์ ก็น่าเป็นทางเลือกอีกทางนึง
ขนาดบัตรที่ติดหน้ารถยังไม่ตรงเลยคุณtaxi เมืองไทยมันอ่อนขนาดนั้นแหละ
ยิ่ง taxi zone อีสานบ้านผมเลว กว่า กทม อีก
สอนคนให้เป็นพระก่อน แล้วค่อยออกมาให้บริการ ฮ่าๆ
คุณคิดว่า taxi มี license กันจริงๆ หรอครับ
ระบบคะแนนผมเข้าใจว่ามีอยู่แล้วนะครับ แต่ปัญหาคือระบบข้อมูลของกรมการขนส่งกับอู่ และก็จริยธรรมของอู่เป็นตัวขัดขวางอยู่
ระบบข้อมูลนั้นผมคิดว่าปัจจุบันไม่มีระบบตรวจสอบข้อมูลผู้ขับขี่รถสาธารณะให้อู่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ขับคนไหนติดโทษ โดนร้องเรียนมาแล้วกี่ครั้ง สถานะใบขับขี่สาธารณะปัจจุบันเป็นอย่างไร
ทำให้เมื่อเกิดการร้องเรียนหรือโดนลงโทษ ผู้ขับสามารถแก้ไขปัญหาได้ง่ายๆด้วยการ "เปลี่ยนอู่" แล้วก็ขับรถต่อไป
นี่ยังไม่รวมถึงกรณีคนขับไม่มีใบขับขี่สาธารณะ แต่มาเช่ารถขับได้ ซึ่งเป็นเรื่องจริยธรรมที่จะเขียนในข้อถัดไป
ส่วนด้านจริยธรรม ก็คืออู่นั้นมองที่ผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก ขอแค่มีคนมาเช่ารถตนเองเต็มทุกกะทุกคัน ได้เงินเข้ามาก็พอแล้ว คนขับจะเป็นใครก็ไม่สน
จึงเกิดกรณีที่คนขับหน้าไม่ตรงกับใบขับขี่สาธารณะที่ติดที่หน้ารถให้เห็นกันเนืองๆเวลามีปัญหาขึ้นมาก็แค่ไล่คนขับคนนั้นออก แน่นอนว่ากฏหมายลงโทษอู่นั่นมีอยู่ แต่สามารถแก้ได้ด้วยการวิ่งเต้น และค่าน้ำร้อนน้ำชา
อู่ก็ไม่สนใจเรื่องจริยธรรมต่อไป
เรื่องวิธีทำให้ระบบแท๊กซี่ดีขึ้นและปลอดภัยโปร่งใสนั้นใช้หลักบริหารกับหลักกฏหมายตามปกติก็สามารถทำได้แล้วครับแต่สิ่งที่ทำให้มันติดอยู่หลักๆเลยก็คือเรื่องจริยธรรมที่ไม่เข้มงวด ไม่คิดถึงส่วนรวมมากเพียงพอนั่นแหละครับ
อยากให้แต่ละอู่ที่มีรถ+คนขับถูกกฎหมายอยู่แล้ว แปลงร่างตัวเองเป็น Uber Clone เรียกรถผ่านแอพได้ จัดเซอร์วิสเทียบเท่าลีมูซีน มีบริการจ่ายผ่านบัตรเครดิต ทั้งออนไลน์หรือรูดสด/NFC Payment แค่นี้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมี Uber แล้ว ♥
แบบ grab taxi สินะครับ
grab บวกเพิ่มครับ ผมเลี่ยงไป uberป ดีกว่า
grab taxi ไม่ต่างอะไรกับศูนย์วิทยุที่เป็นอยู่ในรูปแบบปัจจุบันครับ
" การกำกับดูแล Uber ของกรมการขนส่งทางบกของไทยนั้นแทบไม่มีสาเหตุอะไรเกี่ยวกับ "ปัญหาแท็กซี่" แบบดั้งเดิมเลย "
สำหรับผม มันต่างสิ
เพราะ uber เข้ามาทำให้ชีวิตผมไม่เจอกับปัญหา taxi
taxi ทำตัวแย่ๆ เหมือนเดิม ผมก็ขึ้น uber
การเข้ามาจัดการ uber
จะทำให้ชีวิตผมกลับมาเจอกับปัญหา taxi อีกครั้ง
เกี่ยวเต็มๆ นิ โดยตรงเลยด้วย
ผมยอมจ่าย 2 เท่าถ้าสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ taxi เลวๆ ตายได้
แต่ผมไม่ยอมจ่าย 2 เท่าให้ taxi ที่เลวๆ เพื่อจะไม่ให้มันปฏิเสธ
Grab taxi ก็แก้ปัญหาที่คุณว่าได้และไม่ต้องจ่ายถึง 2 เท่านี่ครับ
Grab มันไม่โดนไปด้วยเหรอครับถ้า uber ไม่รอด -*-
Grab taxi ใช้รถแท๊กซี่ธรรมดานี่แหละครับมาให้บริการ แค่ทำระบบเรียกรถมาครอบอีกชั้นนึง คนขับมีใบขับขี่สาธารณะ รถจดทะเบียนถูกต้องครับ
จากที่ผมสอบถามมมา uber ก็มีใลขับขี่สาธารณะรถป้ายเขียว ก็น่าจะเเปลว่าจะทะเบียนถูก
uber x ไม่ถูกผมพอเข้าใจแต่ทำไม uber black โดนด้วยหว่า
ป้ายสีเหลืองอักษรสีดำ คือ ป้ายทะเบียนรถรับจ้างบรรทุกผู้โดยสารไม่เกิน 7 คน
ป้ายสีเขียวอักษรสีขาว คือ ป้ายทะเบียนรถบริการธุรกิจ รถบริการทัศนาจร และรถบริการให้เช่า
คร่าว ๆ คือ ผิดประเภทครับ
A smooth sea never made a skillful sailor.
โอ้ ขอบคุณมากครับ เป็นยังงี้นี่เองหวังว่าจะสามารถใช้ได้ในอนาคตนะ TT____TT
ผมนี่ เดือนร้อนกับ taxi สุดๆ
บางทีเรียกยังไงก็ไม่รับ จนได้แบกของ
เดินไป bts ที่อยู่ไกลๆ -*-
ถ้าไม่มี uber ชีวิตแบบนั้นมันจะหวนกลับมา
ที่ขอนแก่นนี่ เหมาอย่างเดียวไม่กดมิเตอร์ทุกคัน แบบว่าเอาเปรียบสุดๆ
เคสแบบนี้ทำให้ผมนึกย้อนไปสมัยกำเนิดวินรถตู้ประจำทาง
สำหรับเมืองไทย ผมว่าสุดท้ายเขาไม่แกเอะไรหรอก
รถเมลล์ฆาตกร ทรมาณทรกรรม
แทกซี่ไม่รับคน
รถไฟที่ใช้งานจริงไม่ได้
รถไฟฟ้าที่ไปถึงห้างแต่ไม่ถึงบ้านคน
ไม่ต้องไปพูดถึงจักรยานหรือทางเท้า
เขาอยากบีบให้คุณๆทุกคน
ถ้าจะเดินทางให้"ซื้อรถ"
ถ้าจะขนส่งสินค้าให้ใช้ "สิบล้อ"
ถ้าจะเดินทางไกลให้ "นั่งรถทัวร์"
+1 ถึงจะดูหดหู่แต่ผมก็เห็นอย่างนี้จริง ๆ ระบบผูกขาดมันมีมายาวนานและไม่มีทีท่าจะลดลง เคยไปร่วมงานสัมมนางานพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้ใหญ่กล่าวเปิดงานว่าประเทศไทยไม่มีทางมีรถยนต์ยี่ห้อไทยดังนั้นเราจึงต้องฝึกฝีมือให้คุ้มค่าที่เขาจ้างแรงงาน ได้เป็นตัวเลือกที่ดี ไม่งั้นเขาอาจจะย้ายฐานการผลิต ผมละหมดหวังกับผู้ใหญ่บ้านเรา ถ้าเราไม่เริ่มก็คงอยู่อย่างนี้ตลอดไป
วันก่อนเจ๊เกียวท้ารัฐฯ ให้ซื้อรถทัวร์เอาไปบริหารเองผมเชียร์ให้ทำจริงๆ นะครับ สงสารเจ๊แกคงเบื่อจะทำแล้วจริงๆ
ซื้อรถนี่ เจ๊เกียวรับทรัพย์นะครับ เจ้าของอู่ต่อรถที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
ผมว่าที่ระบบขนส่งมวลชนระหว่างจังหวัดมันยังไม่ไปไหนก็เพราะอิทธิพลของสัมปทานรถทัวร์ที่มีเจ๊เกียวนำนี่แหละครับ
ผมนี่น้ำตาไหลในชะตากรรมเดียวกันเลยครับ
ขอบคุณครับ อ่านแล้วเข้าใจเลย เพราะเห็นมีแต่คนเอาแต่บ่นแท๊กซี่ๆๆ แต่จริงๆแล้วเจอกับตัวก็ขี้เกียจโทรแจ้งแล้วใครจะไปแก้ปัญหาได้ จับสุ่มสี่สุ่มห้าก็ไม่ได้ไม่มีหลักฐาน ผมไม่ได้แน่ใจว่าแค่โทรแจ้งเขาจะปรับจริงๆหรือเปล่า เพราะดูยังไงก็ไม่น่าจะใช้หลักฐานในการปรับได้เลย แต่ถ้าช่วยกันโทรแจ้งปัญหาก็ลดลงนะครับ เพราะ 2000 นี่ ทำให้แท๊กซี่ไม่มีอะไรกลับบ้านได้เลย ถ้าช่วยกันนิดนึงก็น่าจะทำให้แท๊กซี่ไม่ดีลดลง
ปล. สำหรับผมนะไม่ไปก็ไม่เอา ไม่อยากไปนั่งแล้วคนขับอารมณ์เสีย เราก็อารมณ์เสียตาม บางทีก็สงสารพี่เขาไปกะเรากลับไม่ถูกหลงทางวิ่งจนขาดทุนทางมันวกวนเกิน
เคยมีหลายเคส โทรแจ้ง แล้วโดนแท็กซี่โทรมาด่าด้วยนะครับ :p
แจ้ง 1584 ไปแล้ว Taxi มันโทรกลับมาด่าครับ !!!!!!!!!
ผมมองว่ามันเป็น2มาตรฐานในการบังคับใช้กฏหมายครับ
ในกรณี taxi ที่เจ้าหน้าที่หล่ะหลวม หรือออกกฏอะลุ่มอะหล่วย ไม่มีการควบคุมอู่ที่ปล่อยให้ใครก็ไม่รู้เอาบัตรปชช มาเช่ารถ (ส่วนใหญ่อาจจะไม่ แต่ผมเคยเจอกรณีหน้าไม่ตรงกับป้าย คือเช่าต่อกันมาไม่ผ่านอู่ คนไปเอารถออกมาจากอู่ อาจจะมีเงื่อนไขครบถ้วน แต่เอามาปล่อยเช่าต่อ)
แต่ uber กับมาเจ้ากี้เจ้าการ (เพิ่งเริ่มออกมาตรการ ก็น่าจะเริ่มจาก minimal แล้วค่อย step up ไหม) แต่นี้ปรับ max เลยทีเดียว
คืออะไร
เห็นด้วยคับ
ที่คนไม่พอใจมาวิจารณ์กันนี่ก้อไม่ทำให้ Uber ถูกกฎหมายขึ้นมาได้ แต่เขาไม่พอใจที่กรมฯ จะมาลงดาบกับ Uber แต่แท็กซี่ธรรมดามันก้อทำผิดกฎหมาย+ไร้มาตรฐานมานานแล้วก้อไม่เห็นจะปรับปรุงอะไร
ถ้ายอมรับว่ากำกับดูแลได้ไม่ทั่วถึง ก้อควรจะให้ระบบอื่นที่ดีกว่ามาจัดการแทนสิถึงจะแฟร์ๆ แต่ทำแบบนี้มันมองได้อย่างเดียวว่าเข้าข้างแท็กซี่ชัดๆ
อันนร้จริงหรือเปล่าไม่รู้นะครับ
ใช้วิจารณญานในการตัดสินด้วยนะครับ
แท็กซี่เหี้ย. ที่เซ็นทรัลพระราม 9
ฉัน: พี่ค่ะไปถนนราชปรารภ
แท็กซี่: อยุ่ตรงไหน. มันเปิดกระจกถาม
ฉัน; มั่วแต่เอ่อ
แท็กซี่; มันก็ปิดกระจกแล้วเลื่อนรถ
ฉัน; คุยกับพี่ทีทำงานว่าเมงปฏิเสธลูกค้า เมงซักพัก. มันถือมีดพกออกมา มันถามเราว่าถ่ายรูปอะไร. เมงจะทำร้ายผู้หญิงเลวจริงๆๆ ช่วยแชร์หน่อย
จาก https://www.facebook.com/pages/พวกเราเกลียดแท็กซี่เลว/105645596226109
เรื่องแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสารใครกล้าถ่ายรูปแจ้งว้า ถ้าแจ็คพ็อตเจอแท็กซี่ อดีตเด็กเถื่อนนี่ คนถ่ายนั่นแหละจะอันตราย กล้าไม่กล้าไม่รู้แต่ใครจะกล้าเสี่ยงถ้าเกิด เขาหน้ามืดหรือ อารมณ์ชั่ววูบ ได้นอนคุยกับรากมะม่วงแน่ๆ
ระวังการใช้คำในที่นี้นิดนึงนะครับ
อย่างน้อยเปลี่ยนเป็นคำสุภาพ เช่น แท็กซี่เตี้ย หรือแท็กซี่ผู้ไม่น่ารัก หรือแท็กซี่นิสัยไม่ดี
น่าจะดีกว่าคำว่า แท็กซี่ Here นะครับ!
อ๋อ ตั้งแต่บรรทัดที่สอง จนก่อนึง URL ที่มา ผมก็อบข้อความมาวางครับ ไม่ได้กรองเลย ผมก็ไม่รู้จะกรองคำจากต้นฉบับดีมั้ย สดื้ายเลยไม่กรองดีกว่า ให้ได้อารมณ์ตรงๆหน่ะครับ คนาวหน้าจะลบคำหยาบออกแล้วกันครับ
กฎหมายเขียนเพื่อประชาชน ณ เวลาหนึ่ง รูปแบบสังคมหนึ่ง รวมถึงเทคโนโลยีหนึ่งมันจึงไม่แปลกที่กฎหมายจะล้าหลังอยู่เสมอ
ในแง่ของ uber ถ้า taxi เดิม มีการติดตาม ควบคุม ดูแลแบบที่ uber ทำ ปัญหาที่เกิดก็จะน้อยลง
หรืออีกทาง ก็ทำให้ uber ถูกกฎหมาย ทำให้เกิดการแข่งขันกับ taxi เก่าที่ยุติธรรม แล้วปล่อยให้ผู้บริโภคเป็นคนตัดสินใจว่าจะใช้บริการของใคร
ส่วนตัวผมเลือกแบบที่ 2 นะ เพราะการแข่งขันอย่างยุติธรรมทางธุรกิจ มักให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ผู้บริโภค
แต่การจะทำแบบนั้นได้ ผู้ดูแล (ภาครัฐ) จำเป็นจะต้องเข้าใจและยอมรับกับเทคโนโลยีและรูปแบบสังคมที่เปลี่ยนไปเสียก่อน ซึ่งบ้านเรามักจะขาดส่วนนี้ การผ่านกฎหมายที่ทันสมัยจึงไม่ค่อยเกิดขึ้น (ยังไม่นับรวมถึงเรื่องผลประโยชน์พวกพ้องนะ)
ทำอยาก ผลประโยชน์มันค้ำคอ ถ้าเปลี่ยนอาจเสียผลประโยชน์ไปให้คนอื่น
อันที่จริงทั้ง grab ทั้ง Uber ดีกับคนขับตรงที่เป็นฝ่ายเลือกปลายทางและช่วงเวลาให้บริการได้ด้วยครับ ผมว่าจริง ๆ มันเป็น layer ที่แก้ปัญหาเดิม ๆ เวลาเรียกจากริมถนนไปได้เยอะเลย สำหรับทั้งคนนั่งและคนขับเลยล่ะ
ลองนึกถึงว่าระบบ Uber ถูกแฮ็ก แล้วคนขับรถจากไหนก็ไม่รู้มารับเราไปอ่างสวรรค์ เสียว #แก้ไข
ไม่เกินคาดจริงๆแหละ เพราะมันมีกฎหมายอยู่...
เตรียมแอปฯ สู้ “Uber” กรมการขนส่งฯ ฟุ้ง แท็กซี่ในระบบดีกว่าเห็นๆ!!
ดูคอมเม้นสิครับ เละครับเละ แล้วก็ที่ติดอันดับถูกใจคอมเม้นก็มีแต่คำด่า แล้วก็มีเอา QR code ติดที่เบาะหลัง บังเอิญผมนั่งเบาะหน้าข้างคนขับทำไงนี่ แล้วก็อีกข้อนึงเรื่องประกันไม่รับผิดชอบ ผมเชื่อว่า Uber เนี่ยหล่ะจะรับผิดชอบ เพราะทำธุรกิจในหลายประเทศถ้ามีเรื่องแบบนี้แล้วไม่รับผิดชอบลูกค้า ธุรกิจเขาล่มเลยนะครับพวกนี้ต้องให้ความเชื่อมั่นด้วย ไม่งั้นเขาเองหน่ะหล่ะจะมีปัญหา ผลประโยชน์มันลงตัวค้ำคออยู่แล้วคือไม่ทำก็ตาย Uber หน่ะ ในทางกลับกันแท็กซี่มีปัญหาแจ้งใคร อู่ กรมการขนส่งทางบก ตำรวจ ??? โยนเรื่องไปมาแน่นอนคนรับผิดชอบซ้ำซ้อนกันขนาดนี้แล้วผลประโยชน์ก็ซ้อนทับกันด้วย บางส่วนงานทำไปก็ไม่ได้อะไร ลดแรงจูงใจการมาดูแลเข้าไปอีก เอาง่ายมีปัญหาขึ้นมา กรมการขนส่งทางบก จะล้มละลายมั้ย ก็ม่ายยยย อยู่ยงคงกระพัน อย่างมากผู้นำก็โดนย้าย แล้วยังไง ค่าชดเชยหล่ะ นานครับกับราชการ เห็นๆว่าแรงจูงใจในการทำให้ลูกค้าพึงพอใจมันต่างกัน เฮ้อ
บทความดีมากครับ