ปัญหาข่าวปลอม (fake news) บนโลกโซเชียลกลายเป็นเรื่องบานปลายในสหรัฐ และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะคำครหาที่ว่าข่าวปลอมสามารถเปลี่ยนผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 ได้ Blognone จึงสรุปเหตุการณ์จากประเด็นดังกล่าว เพื่อจะได้เห็นภาพรวมว่า fake news บานปลายและมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ภาพจาก Pixabay
อะไรคือข่าวปลอม
ข่าวปลอมโดยความหมายของมันคือ ข้อมูลชุดหนึ่งที่ทำขึ้นมา โดยมีเจตนาจะบิดเบือนและโจมตีบุคคล กลุ่มคน หรือองค์กร มีเนื้อหากระตุ้นอารมณ์เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่าน หรือที่เราเคยเห็นตามหน้าสื่อบ่อยๆ ว่า "พาดหัวเรียกแขก" (click bait)
ข่าวปลอมในยุคก่อนมาในรูปแบบเอกสาร ใบปลิว ฟอร์เวิร์ดเมล แต่การแพร่ระบาดไม่เคยมีประสิทธิภาพมากนัก จนกระทั่งเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย ซึ่งกลายเป็นช่องทางหลักในการรับข่าวสารของผู้ใช้งานแทนสื่อเก่าอย่างทีวี หนังสือพิมพ์ และวิทยุ
โซเชียลมีเดีย ถือเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมของผู้ผลิตข่าวปลอมด้วย เพราะโดยธรรมชาติของข่าวปลอมมักเรียกความสนใจจากผู้ใช้งานได้มากกว่าข่าวจากสื่อหลักหรือข่าวจากสำนักข่าวตามปกติ เพราะยิ่งมีคนคลิกเข้าไปอ่านมากก็ขายโฆษณาได้มาก
ข่าวปลอมกับปัญหาการเมืองสหรัฐ
นอกจากนี้ ข่าวปลอมยังสร้างแนวคิดทางการเมืองแบบ Post-truth politics คือการแสดงความคิดเห็นและการสนทนาเรื่องการเมืองโดยเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง เนื้อความที่ถกเถียงกันมักออกทะเลและไม่ตั้งอยู่บนนโยบายทางการเมืองและข้อเท็จจริง
Facebook คือพื้นที่แพร่กระจายข่าวปลอมมากที่สุด ปัญหานี้คุกรุ่นสะสมมานานหลายปี แต่มุมมองคนทั่วไปมองข่าวปลอมว่า "ก็เป็นแค่ข่าวปลอม" ไม่ใช่เรื่องจริงจังอะไรนัก แต่ปัญหาข่าวปลอมกลายเป็นเรื่องโด่งดังในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2016 เมื่อมีการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า โดนัลด์ ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีก็เพราะข่าวปลอมเหล่านี้
บทความเว็บไซต์ BuzzFeed ชี้ว่าตัวเลขยอด engagement 20 ข่าวปลอมช่วงสามเดือนก่อนการเลือกตั้งปี 2016 พุ่งสูง 8.7 ล้านครั้ง แซงหน้าข่าวจากเว็บข่าวแท้ไปไกล แถม 5 ข่าวปลอมที่มียอด engagement สูงสุดใน Facebook ล้วนแล้วแต่เป็นข่าวโจมตี ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต
ข่าวเหล่านี้ไม่เป็นความจริง แต่ถูกแชร์อย่างแพร่หลาย
- โป๊ปฟรานซิส ให้การรับรองโดนัลด์ ทรัมป์ (960,000)
- FBI ยืนยัน ฮิลลารี คลินตัน ขายอาวุธให้กลุ่ม ISIS (789,000)
- ข่าวอีเมลฮิลลารี คลินตัน รั่ว (754,000)
- ฮิลลารี คลินตัน ถูกตัดสิทธิ์จากสำนักงานรัฐบาลกลาง (701,000)
- พบศพเจ้าหน้าที่ FBI ที่ต้องสงสัยจากอีเมลรั่วไหลของฮิลลารี คลินตัน (567,000)
หมายเหตุ ตัวเลขด้านหลังคือยอด Engagement ช่วง 3 เดือนก่อนวันเลือกตั้ง
ภาพจาก Facebook Donald Trump
ต้องบอกว่าวงการไอทีสหรัฐก็ไม่ค่อยชอบทรัมป์เท่าไรนัก เพราะนโยบายของทรัมป์ ล้วนแต่ขัดแย้งกับแนวทางธุรกิจของวงการไอที ครั้งหนึ่งทรัมป์เคยประกาศจะคว่ำบาตร Apple เพราะไม่ยอมให้หน่วยสืบสวนเข้าดูข้อมูลในโทรศัพท์ของอาชญากร, ทรัมป์ต้องการให้ฐานการผลิต และบุคลากรด้านเทคโนโลยีต้องมาจากภายในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น วงการไอทีจึงมีแนวโน้มสนับสนุนแนวทางพรรคเดโมแครตมากกว่า
ท่าทีของ Facebook ตอนแรกปฏิเสธ ภายหลังยอมรับ
เมื่อถูกวิจารณ์เรื่องข่าวปลอม Facebook มากเข้า ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2016 Mark Zuckerberg ก็ออกมาชี้แจง ว่าข่าวปลอม ไม่มีอิทธิพลมากขนาดนั้น และไม่น่าจะอยู่ในระดับที่สามารถเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้
จนกระทั่งเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง Facebook ยอมเปิดเผยรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากรัสเซียในปี 2016 พบว่ามีการใช้เพจและบัญชีปลอมกว่า 470 บัญชีในการเข้าซื้อโฆษณาทั้งหมด 3,000 โฆษณา คิดเป็นเงิน 1 แสนดอลลาร์ ตั้งแต่ช่วงมิถุนายน 2015 - พฤษภาคม 2017 จากการตรวจสอบโดย Facebook พบว่ามีการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองกว่า 2,200 โฆษณา เข้าถึงผู้ใช้งานถึง 10 ล้านรายในสหรัฐฯ เนื้อหาที่เผยแพร่ไม่ได้เจาะจงที่การเลือกตั้งเท่านั้น แต่แตะประเด็นสังคม การเมือง ความเท่าเทียมทางเพศ สีผิว
ภาพจาก Facebook Mark Zuckerberg
ล่าสุด Facebook ออกมาเผยว่า บัญชีปลอมและบัญชีสแปมบน Facebook มีอย่างน้อย 12% สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เท่าตัว คิดเป็นผู้ใช้ 2 พันล้านบัญชี มีบัญชีปลอม 60 ล้านบัญชี
Twitter และ Google ก็พบปัญหาด้วย
หลังจากนั้นไม่นาน Twitter (ซึ่งโดนเพ่งเล็งไม่น้อยไปกว่า Facebook) ก็ ออกมาเผยรายงานการสืบสวน พบว่ามีบัญชีน่าสงสัยที่เชื่อมโยงกับรัสเซียประมาณ 200 บัญชี และทางคณะกรรมการข่าวกรองเพ่งเล็งเว็บไซต์ข่าวจากรัสเซียมากเป็นพิเศษ คือ Russia Today โดยมีบัญชีบนทวิตเตอร์คือ @RT_com, @RT_America, และ @ActualidadRT สามบัญชีดังกล่าวโปรโมทข้อความทวิตเตอร์ 1,823 รายการ ใช้เงินโฆษณา 274,100 ดอลลาร์และน่าจะมุ่งเป้าไปที่ตลาดผู้ใช้ที่อาศัยในสหรัฐฯเป็นสำคัญ
ล่าสุดคณะกรรมการสืบสวนพบว่ามีบัญชีทวิตเตอร์สองราย คือ Jenna Abrams และ Pamela Moore ทวีตข้อความออกแนวขวาจัด ตั้งแต่วิพากษ์วิจารณ์คนดัง เซเลบริตี้ ไปจนถึงประเด็นการเมือง ต่อต้านผู้อพยพ มีคนรีทวิตข้อความมากมายหลายพันคน แม้แต่นักการเมืองพรรครีพับลิกัน Michael Flynn Jr. ก็รีทวิต, Kellyanne Conway และ Brad Parscale ผู้รับหน้าที่ทำแคมเปญหาเสียงให้โดนัลด์ ทรัมป์ ก็รีทวิตแต่ข่าวที่มาจากบัญชีปลอมจากรัสเซียในช่วง 1 เดือนก่อนจะมีการเลือกตั้ง ที่สำคัญ คณะทำงานมาสืบสวนย้อนหลังพบว่าทั้ง Jenna Abrams และ Pamela Moore เป็นบัญชีปลอม ไม่มีตัวตนอยู่จริง
สุดท้ายคือ Google เผยว่าพบโฆษณาจากบัญชีเชื่อมโยงไปยังรัฐบาลรัสเซีย เป็นโฆษณามีมูลค่า 4,700 ดอลลาร์ และพบโฆษณาที่มีฐานมาจากรัสเซียแต่ไม่ทราบแน่ชัดว่ามาจากรัฐบาลรัสเซียหรือไม่อีกมูลค่า 53,000 ดอลลาร์ โดยโฆษณาอยู่กระจายตัวไปทั้ง Gmail, YouTube และ Google Search
แรงกดดันทางการเมือง บีบให้ต้องปรับนโยบายโฆษณา
ทั้งสามบริษัทมีฐานผู้ใช้งานเป็นพันล้านคนทั่วโลก เหตุการณ์นี้ทำให้ตัวแทนของทั้งสามบริษัทต้องเข้าพบสภาคองเกรส เพื่อชี้แจงผลการสืบสวนกรณีบัญชีปลอมดังกล่าวในวันที่ 1 พ.ย. การเข้าชี้แจงต่อสภาฯครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งยืนยันปัญหาข่าวปลอมที่บานปลายไปมาก ที่แม้แต่ตัวผู้ก่อตั้งทั้งสามบริษัทก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นและมีผลกระทบรุนแรงขนาดนี้
บรรยากาศเข้ารับฟังปัญหาข่าวปลอมต่อหน้าสภาคองเกรส วันที่ 1 พ.ย. มีการนำตัวอย่างข่าวปลอมมาอภิปรายด้วย
สิ่งที่ตามมาคือทั้ง Facebook, Twitter, Google ต้องกลับไปทบทวนนโยบายด้านการโฆษณาของตัวเองใหม่หมด
แรงกดดันสำคัญมาจากฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะพรรคเดโมแครต เพราะข้อสรุปเรื่องข่าวปลอมมีส่วนช่วยให้โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นทุกที โดย Amy Klobuchar และ Mark Warner วุฒิสภาออกมาเรียกร้องให้มีการ ออกกฎหมาย เพิ่มความโปร่งใสในการโฆษณาการเมืองผ่านโซเชียลมีเดีย ต้องเปิดเผยสำเนาการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ข้อมูลผู้ใช้ที่ถูกกำหนดเป็นเป้าหมายของโฆษณาเหล่านี้ ข้อมูลองค์กรที่ซื้อโฆษณา และค่าใช้จ่าย เปิดเผยให้สาธารณชนทราบ
Mark Warner และ Amy Klobuchar สมาชิกวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครต
เราจึงเห็นความเคลื่อนไหวของโซเชียลมีเดียเรื่องปรับนโยบายโฆษณา ซึ่งสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของฝ่ายการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือเผยข้อมูลโฆษณา เพื่อเพิ่มความโปร่งใส
นอกจากนี้ยังทำโซลูชั่นแก้ปัญหาข่าวปลอมเพื่อกอบกู้สถานการณ์ เช่น Facebook งัดทุกกลยุทธ์โซลูชั่น เพื่อให้สามารถตรวจสอบข่าวปลอมบนแพลตฟอร์มได้ง่ายขึ้นโดยเพิ่มปุ่มตรวจสอบเนื้อหาใต้ข่าว และยังดูภาพรวมข่าวได้ว่ามีใครแชร์บ้างและแชร์ในพื้นที่ไหนบ้าง (กำลังอยู่ในช่วงทดลอง) ด้านทวิตเตอร์ก็ประกาศถอนโฆษณาจากสำนักข่าว รัสเซีย RT และ Sputnik ออกทั้งหมด และจะนำรายได้ไปบริจาค
อ่านข่าวปรับนโยบายโฆษณาได้ที่นี่
ข่าวปลอม ไม่ใช่แค่ปัญหาเดียว
แนวโน้มอนาคตของโซเชียลมีเดีย แบรนด์ผู้ทรงอิทธิพลของโลก จะต้องเจอกับการควบคุมโดยรัฐมากขึ้น จากภาพลักษณ์พื้นที่เปิดกว้างทางความคิดและยืนหยัดเคียงข้างประชาชน เริ่มกลายเป็นตัวปัญหากรณีโฆษณารัสเซียเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ทั้ง Facebook, Google, Twitter ยังมีปัญหาคั่งค้างให้แก้ไม่จบสิ้น
นอกเหนือจากบัญชีปลอมรัสเซีย YouTube ยังพบว่าเป็นแหล่งแพร่คอนเทนต์รุนแรงโดยเฉพาะเนื้อหาสนับสนุนการก่อการร้าย, Facebook ก็พบว่ามีการฆาตกรรมสดๆ ผ่าน Facebook Live มาหลายครั้ง, Twitter ก็ขึ้นชื่อเรื่อง Hate Speech, Cyber Bullying, ภาพโป๊ภาพแอบถ่ายมาหลายปี และเพิ่งจะ ร่างมาตรการแก้ไขอย่างจริงจัง เมื่อไม่นานมานี้เอง
ถึงที่สุดแล้วโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะมีอิทธิพลและครอบคลุมผู้ใช้งานทั่วโลกแค่ไหน บทบาทของทั้งสามก็ยังคงเป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่มีรายได้หลักมาจากโฆษณา เมื่อช่องทางสร้างรายได้ให้บริษัทกลับเป็นเครื่องมือให้สามารถนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ง่ายและส่งผลกระทบในวงกว้างเพราะเผยแพร่เนื้อหาปลอมไร้หลักฐานยืนยัน จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมจำนนต่อแรงกดดันภาครัฐและสังคม เดินหน้าแก้ไขสิ่งที่เคยผิดพลาด ทบทวนนโยบายของตัวเองใหม่ทั้งหมด
Comments
engagment => engagement
เมืองไทยนี้ข่าวปลอมหนักมาก ยิ่งช่วงประท้วงเสื้อสีต่างๆ
+10
จริงแท้true
เราเละมาเป็น 10 ปี
เรียกร้องอะไรไปก็อ้างเสรีภาพในการแสดงออก
พอโดนเองบ้าง รีบจัดการทันควัน
ข่าวปลอมนี่หนักจริง ๆ ครับอย่างครอบครัวผมอยู่ทางฝั่งการเมืองนึงและเพื่อนผมอยู่อีกฝั่งหนึ่งตอนอ่านตอนฟังจากทั้งสองฝั่งนี่คนล่ะเรื่องเลย และแต่ล่ะฝั่งก็ใช้ข่าวปลอมเหล่านี้ในการสร้างภาพแทนของอีกฝ่ายด้วยซึ่งบางทีก็ห่างจากภาพจริงไปไกล แล้วด้วยความที่ระบบให้น้ำหนักการแสดงข้อความตามการมีปฎิสัมพันธ์ของผู้ใช้นี่ยิ่งทำให้ข่าวแก้เข้าไม่ถึงเข้าอีก
และเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การเมืองหรอกครับ (แม้การเมืองจะทำให้เห็นผลกระทบชัด) มันยังรวมไปถึงการนำข่าวปลอมไปใช้สร้างภาพแทนของกลุ่มในกรณีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมย่อยบน SNS ด้วยเช่น ติ่งเกาหลี, gamergate เป็นต้น ก็ดีแล้วล่ะที่ในที่สุดผู้ให้บริการก็หันมาใส่ใจซักที
ลิงค์นโยบายของ Google มันชี้ไปที่นี่ครับ :
บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P
ผมรู้สึกว่าบืความนี้เขียนเลืแกข้างเอียงอย่างมากด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.กล่าวหาว่าข่าวปลอมมีผลถึงกลับพลิกการเลือกตั้ง อันนี้รุนแรงมาก มากๆ ทุกวันนี้ก็ไม่มีข้อพิสูจน์ ต้องอย่าลืมว่าช่วงที่เลือกตั้ง กระแส anti establishment รุนแรงมากๆ คนอเมริกาส่วนนึงมองว่าการเลือกฮอลลารี คือการให้คนกลุ่มๆเดิมๆ มาคุมอำนาจอเมริกาต่อ
1.1 นโยบายของทรัมป์ เป็นนโยบายขาตินิยม สนับสนุนการพกอาวุธโดยเสรี ซึ่งถูกใจคนอเมริกาจำนวนมาก
1.2 นโยบายโอบามาแคร์ ซึ่งเรียกเก็บเงินประชาชน โดนต่อต้านพอสมควร
2. ข่าวอีเมลฮิลลารี คลินตัน รั่ว เป็นข่าวเท็จ ผมรู้สึกว่าเป็นการสรุปโดยอคติเป็นอย่างมาก สิ่งที่สรุปได้คือ ฮิลลารี ละเมิดกฏรักษาความปลอดภัยทำให้ข้อมูลสำคัญรั่วใหลจนทำให้เรื่องคาวฉาวโฉ่ของเธอผุดออกมา Wikileaks แฉ อาทิเช่น
2.1 การรับเงินจากซาอุดิอาเบีย
2.2 กองทุนมูลนิธิคลินตัน ที่รับเงินจากรัฐบาลต่างประเทศเพื่อมาล๊อบบี้รัฐบาลอเมริกา (หรือตัวเอง) เพื่ออกนโยบายที่เป็นไปตามที่ประเทศนั้นต้องการ เงินมา-นโยบายไป
2.3 เรื่องคาวฉาวโฉ่ในตะวันออกกลาง
2.3.1 อเมริกาทราบเรื่องที่ ISIS กำลังก่อตัวขึ้น แต่ไม่เลือกที่จะหยุดยั้ง
2.3.2 วาทะ "ในซีเรีย ISIS อยู่ข้างเดียวกับเรา"
WikiLeaks Posts Clinton Email: ‘Al-Qaeda Is On Our Side In Syria’
ในบทความก็เขียนไว้ชัดอยู่แล้วนะครับว่า บริษัทไอทีจะโน้มเอียงทางเดโมแครตมากกว่าอยู่แล้ว
แต่โดยส่วนตัวแล้วผมก็เห็นด้วยว่า ฮิลลารีแพ้เพราะตัวเองมากกว่า
fake news มาจาก BuzzFeed นี่ก็ไม่น้อยนะ
ผมขอแนบ ว่าสื่อหลักๆ CNN ก็ชอบเล่นข่าวเท็จ เพียงแต่ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง ก็ไม่ได้ดีกว่า RT หรอก
หลายครั้งแล้ว บางครั้งผมก็แคบไว้ ล่าสุดคือข่าวนี้ เล่นกันใหญ่โตทั้ง CNN The Matter ฯลฯ
มันไม่ใช่การแก้ข่าวเท็จด้วยความเป็นจริง แต่มันทำกันทั้งคู่ แล้วจะไปไล่แต่ฝั่ง Trump
https://www.youtube.com/watch?v=yAaFzb0sG3s
ฺฺ BBC เผย พบหน้าทรัมป์ในหูหมา
จะจัดการข่าวปลอมมันต้องทำทั้งสองฝั่งป่าวครับ
อ่านข่าวหูหมาแล้วถึงกับร้องว่า แหม่...สื่อคุณภาพจริงๆ
เมืองไทยนี่ข่าวปลอมระบาดจนแตกแยกกันไปหมดแล้วครับ ภูมิต้านทานการเสพข่าวต่ำมาก
จากข่าวนี้นี่ US ก็ไม่ใช่ว่าจะภูมิต้านทานจะดีกว่าขนาดนั้นนะครับ
ของบ้านเรา เอามา io ทุกข่าว
จนไม่มีข่าวจริงละ
จริงคือเท็จ เท็จคือจริง
แถมมีแบบเนื้อนิดเดียว เอาน้ำทั้งเขื่อนมาเติมอีก
เบสิกที่ควรจัดการคือ
พาดหัวข่าวให้เสีย
แต่ลงไปดูในเนื้อข่าว เป็นคนละเรื่อง
ปัญหานี้จริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว เพราะมันมีมาตั้งแต่ยุคอินเทอร์เน็ตเริ่มแพร่หลายแหละ เพียงแต่มันกลายเป็นปัญหาใหญ่มากๆ เพราะ
5 ข้อนี้เป็นความเห็นส่วยตัวตามที่ผมสังเกตนะครับ
ข้อ 5 เป็นอย่างนี้จริง ๆ ครับ แล้วชอบเอาข้อมูลจาก social ไปออกข่าวด้วย บางอันไม่กรองหรือตรวจสอบด้วยซ้ำครับ
ก่อน โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะ ไปดูเหอะ ทุกสำนักข่าวในสหรัฐ ทุกคนเเชียร์ ฮิลลารี คลินตัน กันหมดนั่นแหละ ขนาดไปสัมพาดตัว อดีต ปฐน. อย่างโอบาม่า ยังหัวเราะเยาะ ทรัมป์ อยู่เลย อย่างนายเนี่ยเหลอจะชนะ เรานี่ขำเป็นภาษาอิตาลี
พอ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะ ทุออย่างมันมีปัญหาหมด นี่ไงมีรัสเซียมาโพสเมื่อปีที่แล้วโน่น ทำให้ฉันแพ้
โถ..น่าอนาถ
ดูอย่างบ้านเมืองเราก็ได้ เหลืองคือเหลือง แดงคือแดง ไม่มีใครอ่านอะไรซักอย่างบน internet ปั๊บ แล้วเปลี่ยนข้างทันทีเลยหลอกน่า เลือกอ่านที่ ตัวเองเชื่อกันทั้งนั้นแหละ
วิธีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเค้าก็แปลกๆนะ คือมันมี delegate กับ popular vote ที่ประชาชนออกไปโหวต นับเป็น popular vote แล้วยังต้องไปเลือก delegate อีกทีด้วย
คือต่อให้ popular vote ชนะ ถ้า delegate แพ้ ก็อด
ยังเคยถามเพื่อนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เมกาเล่นๆเลย ว่า delegate ที่เราเลือก จะมั่นใจได้ไงว่าเค้าจะไปลงคะแนนให้คนที่เค้าบอกว่าเค้าจะลง เพื่อให้เราเลือกเค้าเป็นไปตัวแทนเพื่อเลือกคนที่เราต้องการ
ส่วนกรณีข่าวปลอม อาจจะมีผล แต่คงไม่ใช่สิ่งที่จะพลิกโผ ในขณะที่สื่อใหญ่ๆ แม้แต่ตัวประธานาธิบดีที่กำลังจะลงจากตำแหน่ง ยังเชียร์ขนาดนี้ แต่อีกฝ่ายที่แบบ หาคนเชียร์ยาก ยังชนะเลย
มันควรจะต้องกลับไปถามตัวเองมากกว่า ว่า..ไอ้แบบที่เป็นอยู่ คนเค้าไม่เอาแล้ว จริงมั๊ย?
เอา popular vote อย่างเดียวก็จะกลายเป็นการเลือกตั้งของประเทศ california สิครับ
รัฐเดียวปาเข้าไป 12 % จาก 50 รัฐเข้าไปแล้ว รัฐ Wyoming มีประชากร 0.18% ลงคะแนนไปก็เท่านั้น
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_U.S._states_and_territories_by_population
มันก็ต้องมีบ้าง การตลาดเดี๋ยวนี้มันต้องแนวแต่แนววเยอะบางทีก็ไม่ดี