ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ออกคำตัดสิน จากกรณีที่สำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐฯ ถูกฟ้อง ที่ไม่รับจดลิขสิทธิ์คุ้มครองผลงานซึ่งสร้างด้วย AI โดยผู้ฟ้องคือ Stephen Thaler เจ้าของบริษัท Imagination Engines ผู้พัฒนาระบบ AI ชื่อ Creativity Machine ที่สร้างผลงานภาพวาดชื่อ A Recent Entrance to Paradise ซึ่ง Thaler ยื่นขอเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพวาดนี้เนื่องจากเป็นระบบ AI ที่เขาสร้างขึ้น
โดยผู้พิพากษา Beryl Howell ตัดสินยกฟ้องคำร้องนี้ด้วยเหตุผลว่า งานชิ้นนี้ไม่สามารถให้ลิขสิทธิ์คุ้มครองได้ เพราะไม่มีขั้นตอนของการลงมือสร้างสรรค์โดยมนุษย์ในทุกขั้นตอน ซึ่งมุมของ Thaler ที่ยื่นฟ้องเพราะเขามองว่าการเป็นผู้พัฒนาระบบ AI ก็ควรมองเป็นการสร้างสรรค์โดยมนุษย์ในรูปแบบหนึ่งได้ แต่ผู้พิพากษา Howell ไม่เห็นด้วยกับมุมมองนี้
ในรายละเอียดของคำตัดสิน Howell ยกตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยกล้อง ซึ่งเป็นงานมีลิขสิทธิ์คุ้มครอง แต่ตัวภาพถูกสร้างออกมาด้วยเครื่องมืออื่น (ในที่นี้คือกล้อง) อย่างไรก็ตามกระบวนการได้มาของภาพถ่ายนั้น มีมนุษย์ร่วมออกแบบตัดสินใจ ทั้งการจัดวางวัตถุในภาพ การจัดตำแหน่ง แสง และปัจจัยอื่น จึงเป็นงานมีลิขสิทธิ์ของเจ้าของภาพถ่ายนั้น
Dennis Crouch อาจารย์กฎหมายที่ University of Missouri ให้ความเห็นว่าประเด็นนี้น่าจะมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผู้สร้างผลงานด้วย AI ก็อาจเพิ่มขั้นตอนบางอย่าง เพื่อแสดงว่ามีมนุษย์มาร่วมแก้ไข หรือตัดสินใจในชิ้นงาน ก็จะทำให้งานดังกล่าวควรได้ลิขสิทธิ์คุ้มครอง ศาลจึงอาจต้องขีดเส้นแบ่งเรื่องนี้ให้ชัดเจนมากขึ้นอีก
Hollywood Reporter ก็มองว่าคำตัดสินนี้ทำให้แนวทางที่สตูดิโอในฮอลลีวูดพยายามนำ AI มาใช้ในช่วยผลิตผลงาน จนเกิดการ ประท้วงของนักแสดงและคนเขียนบท จะทำให้สตูดิโอต้องพิจารณาเรื่องนี้ใหม่เนื่องจากงานที่สร้างจาก AI ไม่มีลิขสิทธิ์นั่นเอง
ก่อนหน้านี้สำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐฯ ได้ออกแนวทางการจดลิขสิทธิ์งานที่สร้างจาก AI โดย ระบุชัดเจน ว่าการสั่ง prompt แล้วได้ผลงานออกมา ไม่สามารถจดลิขสิทธิ์ได้
ที่มา: The Hollywood Reporter และ Patentlyo ภาพ Pixabay
Comments
ชัดเจนดีเมื่อเทียบกับกล้องภ่ายภาพ สร้างภาพด้วย AI มนุษย์แค่สั่งและเลือก ไม่ได้มีกระบวนการทางศิลปะเท่าไหร่มนุษย์ออกแบบ AI แต่ AI นับเป็นงานศิลปะด้วยป่าว ไม่มั้ง
+1
ไม่ได้เกิดจากสมองและฝืมือตัวบุคคล แต่แค่เขี่ยๆให้ไปลอกไอ้นั่นไอ้นี้แล้วโยนให้ Ai ผสมทำให้ แล้วเคลมว่าผลงานตัวเอง
เยี่ยมครับ จะได้นำไปใช้งานได้โดยไม่กลัวโดนฟ้อง
+1
เหมือนอาจารย์จะบอกช่องโหว่ทางกฎหมายไว้ให้แล้วแหะ
ค่อยๆ วางกฏกันไป ถ้าปล่อยอาจจะแย่
อันนี้ต้องเคลียร์ก่อนว่า คำพิพากษาหรือแนวทาางของหน่วยงานทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้ "ไม่ได้ระบุว่างานพวกนี้ละเมิดลิขสิทธิ์" (ไปเอางานคนอื่นมาฝึก) แค่บอกว่างานที่สั่งมาแล้วได้งานเลย ไม่เพียงพอที่จะให้ความคุ้มครอง แปลว่าต่อให้งานสวย คนอื่นจะเอาไปทำอะไรก็ได้ พิมพ์ขายก็ได้ คนเขียน prompt ไม่ได้รับความคุ้มครอง
ส่วนว่าตัว AI ใช้งานของนักวาดจริงๆ มารวมๆ กันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เป็นอีกส่วนหนึ่ง และกว่าคดีจะสิ้นสุด กว่าจะได้แนวทางตกลงกันจริงๆ น่าจะอีกพักใหญ่
lewcpe.com , @wasonliw
AI อาจจะไปลอกงานชาวบ้านมา
ประเด็นนี้คือศาลมองว่าเจ้าของไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองมากพอ จึงไม่นับว่าเป็นผลงานที่มีลิขสิทธิ์ครับ
ไม่เกี่ยวกับว่าไปละเมิดงานอื่นหรือไม่ครับ และเคสทำนองนี้ถึงจะไม่ใช่ AI แต่ก็เคยเกิดขึ้นอยู่บ้าง (อย่างเคสที่ดังๆก็เช่น ภาพลิงเซลฟี่ ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ใดๆเช่นเดียวกัน)
+++
ลิงเซลฟี่เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ๆ
หลักมันมีตามนี้ครับIdea + Impression
ถ้าไม่มีสองอย่างนี้ จะไม่ใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ครับ
Idea คือความคิด รายละเอียด วิธีการของงาน
Impression คือสร้างสรรค์ แสดงออกมาซึ่ง Idea
ถ้าขาดสองอย่างนี้ ก็ไม่ใช่งานอันมีลิขสิทธิ์
ลองคิดว่าถ้า AI สร้างงานที่มีลิขสิทธิ์ได้วันละหลายพันล้านงาน ต่อไปมนุษย์คงจะสร้างอะไรแทบไม่ได้แล้ว
อยากให้ขึ้นศาลฎีกาไปเลยเคสนี้ จะได้เป็น precedent ไปเลย เลิกเถียงกันได้สักที
บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P
ใช้ ai สร้างดราฟแรกขึ้นมาจากนั้นเอามาปรับใหม่ให้เป็นของตัวเองก็น่าจะได้แล้ว
A smooth sea never made a skillful sailor.
ปกติกระบวนการสร้างสรรค์งานของมนุษย์ก็เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว ดู ลอก ศึกษา ปรับแต่ง ได้งานตัวเอง แต่ AI ทำให้กระบวนการมันเร็วขึ้นมาก ๆ เพียงแต่ว่าจะอยู่ยากหน่อยเพราะว่าถ้าคนขุดเจอว่าเทรซจาก AI ก็อาจจะโดนลามไปยันกระบวนการทางกฎหมายได้
ถ้าให้ดีควรกำหนดให้ไม่สามารถนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้ด้วย
ทำไมเหรอครับ?
พอมันไม่มีลิขสิทธิ์ มันก็แทบจะขายภาพตรงๆไม่ได้แล้ว แต่มันก็ยังเอาไปต่อยอดอื่นๆต่อได้ เช่น ใช้เป็น asset ในผลิตภัณฑ์อื่นๆอีกที (แน่นอนว่าคนอื่นก็เอาไปใช้ได้ด้วย เพราะมันไม่มีลิขสิทธิ์) ซึ่งผมไม่คิดว่ามันมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องห้ามนะครับ
เห็นด้วย ผมเองสนับสนุน AI และความสามารถของมันในการช่วยคน อย่างเช่น ใช้ AI เจนภาพไว้เป็นดราฟต์งานให้นักวาดเอาไปวาดอีกที ใช้ AI มาถม กลบรายละเอียดย่อย ๆ ที่ใช้เวลาทำงานนาน ๆ และปรับปรุง Post-processing ให้กับงานของศิลปินอีกที แต่ตอนนี้มันถูกใช้อย่างกว้างขวางเพื่อเอาเปรียบนักวาด (ลอกภาพจากเน็ตเอามาเจนฯ ขาย หรือใช้งานภายในบริษัทโดยไม่สนปัญหาลิขสิทธิ์) ซึ่งมันก็ควรจะมีกฎกำกับไว้อีกที เหมือนกับอาวุธนั่นแหละ ตอนนี้มันเละเทะไปหมดเพราะมี Bad Actor ฉวยโอกาสจากตรงนี้
ผมว่าทั้งฝั่งอวย กับฝั่งแอนตี้กำลังพากันหลงประเด็นไปไกล ประเด็นของมันไม่ใช่เรื่องความคิดสร้างสรรค์ หรือกระบวนการสร้างงาน การเปรียบเทียบของ AI และมนุษย์เลย แต่มันเป็นเรื่องการใช้ AI เพื่อทำร้ายคนอื่นนี่แหละ ตรงนี้ไม่ว่าใคร ๆ ก็ไม่ควรยอมรับมัน แต่ก็อย่างว่ามันมีคนได้ประโยชน์มหาศาลจากปัญหาตรงนั้นเลยพากันปกป้อง