GlobalFoundries บริษัทผลิตชิปที่ แยกตัวจาก AMD ในปี 2009 เตรียมเปิดโรงงานผลิตชิปแห่งใหม่ในประเทศสิงคโปร์ ที่มีความสามารถผลิตชิปเวเฟอร์ 300 มิลลิเมตรได้ 450,000 แผ่นต่อปี เป็นโรงงานเฟสแรกจากโครงการขยายภาคการผลิตสามเฟส มูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ได้รับการอุดหนุนจากคู่ค้าและรัฐบาลสิงคโปร์
โรงงานนี้จะเน้นการผลิตชิปที่มีกระบวนการผลิตค่อนข้างใหญ่ เช่นกระบวนการ BiCMOS ขนาด 55nm สำหรับชิปสัญญาณวิทยุ (RF) และกระบวนการผลิต 40nm สำหรับชิปหน่วยความจำและสัญญาณวิทยุรูปแบบอื่น รวมถึงมีบางส่วนเล็กๆ สำหรับกระบวนการผลิตขนาด 90nm อีกด้วย เครื่องจักรต่างๆ ในโรงงานจะสามารถปรับเปลี่ยนตามอุปสงค์และย้ายไปมาระหว่างไลน์การผลิตได้
GlobalFoundries เตรียมเพิ่มโรงงานผลิตใหม่เนื่องจากความต้องการชิปประมวลผลในวงการต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น จนทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนชิปในปัจจุบัน และยังไม่มีทีท่าว่าความต้องการชิปจะลดลงในเร็วๆ นี้ GlobalFoundries จะเร่งสร้างโรงงานใหม่โดยเร็วที่สุด และเริ่มปรับพื้นที่สำหรับการสร้างโรงงานใหม่แล้วตั้งแต่วันนี้ พร้อมเริ่มผลิตในช่วงต้นปี 2023 และเดินสายการผลิตเต็มที่ช่วงสิ้นปี
โรงงานใหม่นี้เพิ่มกำลังการผลิตของ GlobalFoundries ในสิงคโปร์ขึ้นเกือบ 50% จากเดิมผลิตชิปเวเฟอร์ 300 มิลลิเมตรได้ 1.5 ล้านแผ่นต่อปี เป็น 1.95 ล้านแผ่นต่อปี เมื่อโรงงานเดินเครื่องเต็มกำลัง
ที่มา - Anandtech
Comments
คงเป็นคำตอบสำหรับคนที่กลัวค่าแรงแพงแล้วจะไม่มีใครลงทุนนะครับ
องค์ความรู้และแรงงานมีทักษะสำคัญมากๆสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ขั้นสูง (บ้านเราแรงงานมีทักษะผ่านแล้ว สมัยนึงyieldบ้านเราและDPPMดีอันดับต้นๆเมื่อเทียบกับโรงงานบ.เดียวกันทั่วโลกหรือแม้แต่โรงงานในเพื่อนบ้าน แต่องค์ความรู้ขาดเยอะ นำเข้าวิศวกรเฉพาะทางเพียบ)
1.2 แสนล้าน ซัพพลายเออร์หลายเจ้าคงลงขันกันสุด
สิงคโปร์หาแต่อุตสาหกรรมที่มูลค่าสูงบนพื้นที่จำกัดได้เก่งจริงๆ อิจฉา?
มาเลก็มีอินเทล ตอนนี้เวียดนามก็มีอินเทลแล้ว